ผักคือยาชั้นดี แนะ สมุนไพรช่วยลดน้ำตาลในเลือด ไม่ต้องรอให้เป็นเบาหวานก่อนก็กินได้ รักษาสมดุลระดับน้ำตาล
สำหรับคนที่ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง อยู่ในช่วง 100-125 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หรือสุ่มเจาะน้ำตาลในเลือดโดยที่ไม่ได้อดอาหาร แล้วพบว่าน้ำตาลในเลือดอยู่ในช่วง 140-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร จะถือว่าคนผู้นี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวาน ซึ่งนอกจากการควบคุมด้วยการออกกำลังกายแล้ว อาหารก็มีส่วนสำคัญในการรักษาภาวะดังกล่าว
วันนี้เราจะมาพูดถึงผักที่มีงานวิจัยรองรับว่ามีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานควบคู่กับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน
ที่นอกจากจะหาซื้อได้ง่ายแล้ว ยังมีความปลอดภัยสูง โดยผู้ป่วยอาจเลือกใช้ผักเหล่านี้ชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยอาจใช้สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ภายใต้ความดูแลของแพทย์ได้!
6 ผักช่วยลดน้ำตาลในเลือด
มะระขี้นก
ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน และลดระดับของน้ำตาลทั้งในเลือดและในปัสสาวะ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลให้เกิดเบาหวานได้
วิธีที่ 1
- คั้นน้ำจากผลสดมื้อละ 2-3 ผล โดยเอาเมล็ดในออก
- ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย
- ปั่นคั้นเอาแต่น้ำดื่ม 3 เวลา ก่อนอาหาร
วิธีที่ 2
- นำเนื้อมะระผลเล็ก (มีตัวยามาก) ผ่านำเมล็ดออก
- หั่นเนื้อมะระเป็นชิ้นเล็กๆ ตากแดดให้แห้ง
- นำมาชงกับน้ำเดือด (มะระ 1-2 ชิ้น ต่อน้ำ 1 ถ้วย)
- ดื่มเป็นน้ำชา ครั้งละ 1-2 ถ้วย วันละ 3 เวลา ก่อนอาหาร
อย่างไรก็ตามมะระที่สุกแล้วจะมีสารซาโปนิน (Saponin) ในปริมาณมาก การรับประทานอาจทำให้มีอาการอาเจียน ท้องร่วงได้ ดังนั้น ควรรับประทานผลอ่อน ข้อควรระวังคือ คนท้อง เด็ก และคนที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำไม่ควรรับประทาน และควรรับประทานในปริมาณที่พอดี อย่าทำอะไรเกินเลย เพราะความขมจัดของมะระขี้นก อาจทำให้ตับทำงานหนักขึ้น
ชะพลู
งานวิจัยมากมายทั้งในไทยและต่างประเทศที่พูดถึงฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือด โดยมีงานวิจัยพบว่าน้ำชะพลูลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายที่เป็นเบาหวานได้ แต่ไม่สามารถลดน้ำตาลในเลือดของกระต่ายปกติได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามสำหรับผู้ที่เป็นโรคไต เพราะใบช้าพลูมีส่วนประกอบของแคลเซียมออกซาเลท (Calcium oxalate) ซึ่งการกินในปริมาณมาก จะไปสะสมที่ไต และทำให้ไตทำงานหนักขึ้น
ทั้งนี้ ถ้ากินเป็นผักหรือเป็นอาหารก็มีความปลอดภัย แต่ถ้ากินเป็นยาเพื่อหวังผลในการลดน้ำตาล แนะนำว่าจะต้องสังเกตอาการน้ำตาลเช่น มีอาการหน้ามืด ใจสั่น เหงื่อออกมือ มีอาการหวิวๆ เหมือนจะเป็นลมหรือไม่ เพราะแสดงว่าน้ำตาลในเลือดของคุณกำลังต่ำเกินไป จึงไม่ควรทานช้าพลูนั่นเอง
วิธีใช้ชะพลู
- นำชะพลูทั้งต้นตลอดถึงราก 1 กำมือ
- พับเถาเป็น 3 ทบ ใช้ตอกไม้ไผ่มัดเป็น 3 เปลาะ
- ใส่หม้อต้มกับน้ำพอท่วม
- ต้มจากน้ำ 3 ส่วน เหลือ 1 ส่วน
- ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร
ผักเชียงดา
มีผลช่วยป้องกันการดูดซึมของน้ำตาล ฟื้นฟูเซลล์ตับอ่อนที่สร้างอินซูลิน และลดน้ำตาลในเลือดได้ วิธีใช้ให้ใช้ใบแห้งชงดื่มเป็นน้ำชา ครั้งละ 4 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง หรือรับประทานเป็นผักในมื้ออาหาร
ตำลึง
จากการทบทวนผลการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบของสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของทีมนักวิชาการจาก Harvard Medical School พบว่า ตำลึงและโสมมีหลักฐานสนับสนุนประสิทธิผลที่ดีที่สุดจากการที่มีการออกแบบการทดลองได้อย่างเหมาะสม ตำลึงแสดงผลการลดน้ำตาลทั้งในสัตว์ทดลองและในคน ตำลึงให้ผลลดน้ำตาลทั้งส่วนที่เป็นใบ ราก ผล
โดยใช้เถาแก่ๆ ประมาณ 1 กำมือ ต้มกับน้ำ หรือน้ำคั้นจากผลดิบ ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ว่านหางจระเข้
ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงมีประโยชน์อย่างมากในการช่วยป้องกันเบาหวาน หรือช่วยผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้ว ให้สามารถควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ดีขึ้น
อบเชย
ช่วยเพิ่มระดับความไวของอินซูลิน ซึ่งอาจจะทำงานทันทีตั้งแต่รับประทานเข้าไป และออกฤทธิ์ยาวนานต่อเนื่องถึง 12 ชั่วโมง และอาจช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้อีกด้วย
ทั้งนี้ควรควบคู่ไปการแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อให้ได้ผลที่ดีกว่า ขณะที่ควรปรึกษาแพทย์เป็นรายกรณีเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ อย่างไรก็ตามควรออกกำลังกายและกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงของหวาน ของมัน และรสจัดเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล
ที่มา : pptvhd36.com