แก่นฝาง หลายคนรู้จักสมุนไพร ชนิดนี้ว่าเป็นพืชที่ให้สีแดงและถูกนำมาใช้ในการย้อมผ้า ผสมสีอาหาร หรือใช้เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำยาอุทัยที่สาว ๆ มักใช้บำรุงเลือด แต่นอกเหนือจากสรรพคุณเหล่านี้ แก่นฝางยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกสารพัด วันนี้เราจะไปเจาะลึกเรื่องของต้นฝาง พร้อมทำความเข้าใจถึงวิธีใช้และข้อควรระวังอย่างละเอียด
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Caesalpinia sappan L.
ชื่อสามัญ : Sappan Tree
วงศ์ :LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
ชื่ออื่น :ง้าย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี); ฝาง (ทั่วไป); ฝางส้ม (กาญจนบุรี)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้พุ่มแตกกิ่งที่โคน สูง 5-8 เมตร สำต้นมีหนามโค้งสั้นๆ และแข็งทั่วทุกส่วน ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับกัน ใบย่อยรูปไข่หรือรูปขอบขนานกว้าง 0.6-0.8 ซม. ยาว 1.5-1.8 ซม. โคนใบเฉียง ดอก ช่อ ออกที่ซอกใบตอนปลายกิ่งและที่ปลายกิ่ง กลีบรองดอกมี 5 กลีบ ขอบกลีบเกยซ้อนกัน กลีบล่างสุดโค้งงอและใหญ่กว่ากลีบอื่น กลีบดอกสีเหลือง มี 5 กลีบ เกสรตัวผู้มี 10 อัน แยกเป็นอิสระ ผล เป็นฝักแบนแข็งเป็นจงอยแหลม เปลือกเป็นสันมน ปลายแหลม มีเมล็ดเป็นรูปรี 2-4 เมล็ด
ทั้งนี้ ฝางจะมีอยู่ 2 ชนิดตามสีของเนื้อไม้และแก่น คือ
ฝางเสน : เนื้อไม้หรือแก่นมีสีแดง เมื่อถูกอากาศนาน ๆ จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เสี้ยนตรง เนื้อแข็งละเอียด แก่นที่มีสีแดงเข้มจะมีรสขมหวาน
ฝางส้ม : เนื้อไม้หรือแก่นเป็นสีเหลืองอมส้ม รสฝาดขม เครื่องยามีกลิ่นอ่อน
แก่นฝาง สรรพคุณทางยามีอะไรบ้าง
ส่วนของต้นฝางที่นิยมนำมาใช้มากที่สุดก็คือ แก่น ซึ่งมีรสฝาด เค็ม ชุ่ม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ โดยสรรพคุณทางยาของแก่นฝางตามตำรับยาไทย มีดังนี้
- ใช้บำรุงโลหิตสตรี ให้เลือดลมไหลเวียน ช่วยขับประจำเดือน แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- บรรเทาปัญหาระบบทางเดินอาหารเช่น ท้องร่วง ท้องเสีย แก้ธาตุพิการ
- ช่วยสมานแผลภายในและภายนอก ทำให้แผลหายเร็วขึ้นและลดการอักเสบของผิวหนัง
- รักษาอาการน้ำกัดเท้าฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคผิวหนังบางชนิด
- ช่วยขับเสมหะ แก้ไอ
- มีฤทธิ์เย็น จึงช่วยบรรเทาอาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ
- บรรเทาอาการจุกเสียดแน่นและเจ็บหน้าอก กระจายเลือดที่อุดตัน
- มีการศึกษาพบว่า สารสกัด Hydro-alcoholic จากแก่นฝาง มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ในขณะที่สาร Brazilin ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แต่ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลอง
- บำรุงรากผมลดปัญหาผมขาดหลุดร่วง ทำให้ผมดกดำ ลดอาการคันหนังศีรษะ
- น้ำมันระเหยจากแก่นฝางสามารถใช้เป็นยาสมานอย่างอ่อนได้
แก่นฝาง ใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
1.ใช้แต่งสีอาหารหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
นำแก่นฝางมาแช่น้ำหรือต้มเคี่ยวจะได้สีชมพูเข้ม ใช้แต่งสีอาหาร ผสมในน้ำดื่ม ทำน้ำยาอุทัย ผสมในสบู่ เป็นต้น ส่วนรากจะให้สีเหลือง สามารถใช้แต่งสีอาหารได้เช่นกัน
2.นำมาต้มดื่ม
เพื่อบรรเทาอาการร้อนใน แก้กระหายน้ำ ขับเสมหะ
3.ใช้เป็นยาขับประจำเดือน
ตามตำรับยาไทยระบุว่า ให้ใช้แก่น 5-15 กรัม หรือ 5-8 ชิ้น ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เติมเนื้อมะขามที่ติดรกอยู่ (แกะเมล็ดออกแล้ว) ประมาณ 4-5 ฝัก เคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว รับประทานเช้า-เย็น
4.ใช้บำรุงหลังคลอดบุตร
นำเนื้อไม้มาผสมกับปูนขาว บดทาหน้าผากหลังคลอดบุตร ช่วยให้เย็นศีรษะ
5.แก้ท้องร่วง
ใช้แก่น 4-6 ชิ้น ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
6.ใช้รักษาน้ำกัดเท้า
ฝนแก่นฝาง 2 ชิ้นกับน้ำปูนให้ข้น ๆ ทาบริเวณที่น้ำกัดเท้า
7.ใช้ย้อมผ้า
น้ำต้มจากแก่นฝางสามารถนำมาย้อมสีผ้าไหม ผ้าฝ้าย โดยเส้นใยที่ย้อมได้จะเป็นสีแดงชมพู หากนำไปจุ่มน้ำปูนใสจะได้เป็นสีบานเย็น แต่ถ้านำรากฝางมาใช้ย้อมผ้าจะได้เส้นใยที่มีสีเหลือง
8.ใช้ทำเครื่องเรือน
โดยนำเนื้อไม้ฝางที่มีสีออกแดงหรือน้ำตาลเข้มมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์
นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการนำฝางมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำสมุนไพรฝางแบบผงชง ยาแคปซูลฝาง รวมทั้งเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง เช่น แชมพู สบู่ โลชั่น ครีม เจล เพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้สะดวกขึ้น
โทษของแก่นฝาง
โดยทั่วไปแล้ว แก่นฝาง เป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยเมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตาม การรับประทานในปริมาณมากเกินไป หรือผู้ที่มีอาการแพ้ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และการใช้ในขนาดที่สูงสามารถเป็นพิษต่อตับได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้ฝาง
ข้อควรระวัง
- ควรใช้ฝางในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย
- หากใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของฝาง ควรทดสอบการแพ้โดยทาบนผิวเพียงเล็กน้อยดูก่อน และไม่ควรนำฝางไปใช้กับบริเวณที่มีบาดแผลเปิด
- คนที่มีอาการแพ้สมุนไพรบางชนิดควรระมัดระวังในการใช้ฝาง
- หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานฝาง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฝาง เพราะฝางมีฤทธิ์เป็นยาขับประจำเดือน อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้
- ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน แอสไพริน ไม่ควรรับประทานฝาง เพราะจะยิ่งเสริมฤทธิ์กัน
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคตับ โรคไต ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ฝาง
การใช้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อความปลอดภัย เพราะหากใช้โดยไม่มีความรู้ หรือใช้เกินปริมาณที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรชนิดใด ๆ ย่อมเกิดผลข้างเคียงได้ไม่ต่างกัน
ที่มา : kapook.com