หน้าแรก สมุนไพรไทย Health เสนียด สรรพคุณและประโยชน์ของ ต้นเสนียด!

เสนียด สรรพคุณและประโยชน์ของ ต้นเสนียด!

3
0

เสนียด ชื่อสามัญ Adhatoda, Vassica, Malabar Nut Tree

เสนียด ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia adhatoda L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Adhatoda adhatoda (L.) Huth, Adhatoda vasica Nees, Adhatoda zeylanica Medik., Ecbolium adhatoda (L.) Kuntze, Gendarussa adhadota Steud.) จัดอยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (ACANTHACEAE)

สมุนไพรเสนียด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า โบราขาว (เชียงใหม่), หูหา (เลย), หูรา (นครปฐม, นครพนม), กุลาขาว บัวลาขาว บัวฮาขาว (ภาคเหนือ), โมรา เสนียดโมรา (ภาคกลาง), กระเหนียด (ภาคใต้), กระเนียด (ทั่วไป), ชิตาโหระ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), จะลึ้ม (ปะหล่อง), เจี่ยกู่เฉ่า ต้าปั๋วกู่ ยาจุ่ยฮวา (จีนกลาง) เป็นต้น

ลักษณะของต้นเสนียด

  • ต้นเสนียด จัดเป็นไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 1.4-3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบ ๆ ต้นเป็นพุ่มทึบ ยอดกิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการปักชำ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีความชุ่มชื้นปานกลาง พบได้มากในแถบป่าเต็งรัง
  • ใบเสนียด ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรีใหญ่ หรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมสอบหรือเรียวมนรี ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร พื้นใบเป็นสีเขียวและมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร
  • ดอกเสนียด ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามง่ามใบใกล้กับปลายยอด ช่อดอกจะรวมกันเป็นแท่ง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับสีเขียวหุ้มดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้นเดียว ดอกย่อยของเสนียดกลีบดอกเป็นสีเขียว ดอกย่อยมีกลีบยาวประมาณ 1.2-1.4 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว มีเส้นสีม่วง ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายปากแยกแบ่งเป็นกลีบล่างและกลีบบน มี 2 กลีบ ส่วนบนมีรอยแยก 2 แฉกสีขาว ส่วนล่างมีรอยแยกเป็นแฉก 3 แฉกสีขาวปะม่วง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยื่นออกมา ก้านเกสรเพศเมียจะสั้นกว่า เกสรเพศผู้เป็นเส้นกลมยาว ที่ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก
  • ผลเสนียด ออกผลเป็นฝัก ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร และมีขน ภายในพบเมล็ด 4 เมล็ด[4] ผลเป็นผลแห้ง และแตกออกได้ แต่ไม่ติดผล

สรรพคุณของเสนียด

  1. รากมีรสขม ใช้ปรุงเป็นยาแก้วัณโรค
  2. ทั้งต้นมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ ใช้เป็นยาฟอกเลือด และกระจายเลือด ใบใช้เข้ายาที่เกี่ยวกับการบำรุงโลหิต
  3. รากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงปอด ช่วยทำให้หายใจได้ดีขึ้น
  4. ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม
  5. ใบแห้งนำมาหั่นมวนเป็นบุหรี่สูบ ช่วยแก้หอบหืด ส่วนต้น ราก ใบ และดอกก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืดเช่นกัน ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้รากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคหอบหืด
  6. ใบมีรสขมสุขุม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้
  7. ช่วยแก้อาการไอ ตำรายาแก้ไอและขับเสมหะจะใช้น้ำคั้นจากใบสดประมาณ 15 มิลลิลิตร นำมาผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำขิงสดดื่มกินเป็นยา
  8. ต้น ราก ใบ และดอกมีรสขม สรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ ตัวยาของต้นเสนียดจะมีฤทธิ์ลดอาการระคายเคืองของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ถ้ากินมากเกินขนาดจะทำให้อาเจียนและมีอาการท้องเดิน
  9. ใบใช้ต้มกับน้ำอาบหลังจากหญิงคลอดบุตร หรือใช้เข้ายากรณีประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ส่วนชาวปะหล่องจะใช้ใบหรือรากนำมาต้มกับน้ำให้สตรีหลังคลอดบุตรอาบ รวมไปถึงคนที่ป่วยมาเป็นเวลานาน ไม่ค่อยมีแรง จะช่วยทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  10. ใบนำมาต้มกับน้ำอาบช่วยแก้ลมผิดเดือนของสตรี (น่าจะเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากความเครียดระหว่างการอยู่ไฟของสตรี)
  11. ทั้งต้นมีสรรพคุณแก้ประจำเดือนมามากเกินไป หรือประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ
  12. ใบมีรสขม ใช้เป็นยาห้ามเลือดได้
  13. ใช้เป็นยาแก้ฝี รากใช้เป็นยาแก้ฝีภายใน
  14. ใบใช้เป็นยาแก้ปวดบวม แก้เจ็บปวดข้อ
  15. ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง ปวดเข่า และเคล็ดขัดยอก
  16. ตำรับยาแก้ปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว แก้กระดูกร้าว แก้ปวดบวม หรือปวดตามข้อ รวมถึงเหน็บชาอันเนื่องมาจากลมชื้น ให้ใช้ต้นเสนียดสด 60 กรัม, เถ้ากุเสียว 30 กรัม, เจ็กลั้ง 30 กรัม, เจตพังคี 20 กรัม และหญ้าผีเสื้อบิน 20 กรัม นำมารวมกันแล้วคั่วกับเหล้าให้ร้อน ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่เป็น
  17. นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นที่ระบุสรรพคุณนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอีกหลายอย่าง เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ระบุแหล่งอ้างอิงไว้ เช่น รากมีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำนม แก้ลม แก้ปอดพิการ ช่วยรักษาหลอดลมอักเสบ แก้ผอมแห้ง อุจจาระเป็นเลือด แก้คุดทะราด และทำให้ผิวพรรณผ่องใส เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ทำให้อาเจียนและท้องเดิน ใบมีสรรพคุณเป็นยารักษาแผลในปากและในลำคอ ช่วยป้องกันไข้จับสั่น วัณโรค บำรุงปอด แก้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และทำให้ผิวพรรณผ่องใส ใบและก้านมีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ และรักษากระดูกหัก ดอกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ บำรุงปอด และฆ่าพยาธิในท้อง ส่วนทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ลักปิดลักเปิด และช่วยห้ามเลือด

หมายเหตุ : วิธีการใช้ตาม ให้ใช้ยาแห้งครั้งละ 10-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้าเป็นยาสดให้ใช้ครั้งละ 30 กรัม นำมาตำพอกแผลภายนอก สามารถเก็บได้ตลอดปี จะใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้ก็ได้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของเสนียด

  • รากเสนียดพบว่ามีสาร Alkaloids อยู่หลายชนิด เช่น Vasicinol ส่วนในใบและดอกพบสาร Vasicine, Vasicinone ในใบพบ Vasakin, วิตามินซี ส่วนดอกพบสาร Adhatodine, Anisoine, Betaine, Vasicinine เป็นต้น
  • ใบและดอกเสนียดมีสารอัลคาลอยด์ Vasicine และ Vasicinone ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลมและละลายเสมหะ โดยยาละลายเสมหะที่มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือยา Bromhexine ซึ่งเป็นสารที่ได้จากการสังเคราะห์ขึ้นโดยเลียนแบบโครงสร้างของอัลคาลอยด์จากใบเสนียด
  • เนื่องจากสาร Vasicine มีประสิทธิภาพทำให้หลอดลมขยายตัว จึงสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหืดหอบได้
  • สาร Vasicine มีฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสุนัขทดลองได้เล็กน้อย และยังมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจที่อยู่นอกร่างของหนูและกระต่ายทดลองให้มีการบีบตัวและมีการสูบฉีดหัวใจแรงขึ้น
  • สารสกัดด้วยเอทานอลจากใบเสนียด สามารถต้านการฝังตัวของตัวอ่อนของหนูขาวเพศเมียได้ประมาณ 60-70%
  • เมื่อให้สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ สารสกัดแอลกอฮอล์และสารสกัดด้วยน้ำจากใบเสนียด ทางปากแก่หนูถีบจักรเพศเมียก่อนการผสมพันธุ์ 7 วัน และ 14 วัน ในระหว่างการผสมพันธุ์ พบว่าไม่มีผลทำให้หนูเป็นหมัน
  • สาร Vasicine จากเสนียดมีฤทธิ์ทำให้หนูตะเภาแท้งได้ โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาการตั้งท้อง และก่อนเกิด estradiol priming แต่ไม่มีฤทธิ์ทำให้หนูขาวแท้ง และได้มีการศึกษาในผู้ป่วยหลังคลอดปกติ ในวันที่ 2-8 ในโรงพยาบาล โดยได้รับสาร Vasicine ในขนาด 16 มิลลิกรัม พบว่าผู้ป่วยสามารถทนต่อสารได้ดี ไม่มีผลข้างเคียง และมดลูกมีการบีบตัวดี ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งได้ทำการทดลองให้สารสกัดด้วยน้ำจากใบเสนียดในขนาด 175 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทางปากแก่หนูขาวที่ตั้งท้องได้ 10 วัน พบว่าทำให้หนูแท้งได้ 100% แต่เมื่อให้สารสกัดจากใบเสนียด (ไม่ระบุตัวทำละลาย) ในขนาด 325 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ทางสายยางแก่หนูขาวที่ตั้งท้องในระหว่างวันที่ 1-9 และเมื่อให้ใบเสนียดละลายน้ำ 0.25 และ 2.5% แก่หนูขาวที่ตั้งท้องระหว่างวันที่ 1-9 พบว่าไม่ทำให้แท้ง
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ ไม่พบว่าเป็นพิษในคนที่กินสารสกัดจากใบเสนียดในขนาด 20 มิลลิลิตรต่อคน ไม่พบว่าเป็นพิษกับหนูถีบจักรที่รับสารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบเสนียดทางสายยางหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ในขนาด 10 กรัมต่อกิโลกรัม และไม่พบพิษ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอาการทางระบบประสาทในหนูขาวเพศผู้ที่กินสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada (ตำรับสมุนไพรที่ประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิด รวมถึงเสนียดด้วย) ในขนาด 100-1,600 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และเมื่อให้สาร Vasicine แก่หนูขาวและลิงเป็นระยะเวลา 6 เดือน ก็ไม่พบพิษเช่นกัน[10]
  • เมื่อให้สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบเสนียดทางหลอดเลือดดำสุนัข ไม่พบว่าเป็นพิษต่อหัวใจ แต่ในกบที่ได้รับสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada ในขนาด 2.5 และ 25 มก. พบว่ามีฤทธิ์กดหัวใจ และลดแรงบีบตัวของหัวใจ
  • สารสกัดด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตรา 1:1 จากใบเสนียด ไม่เป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง CA-9KB ขนาดของสารสกัดที่ทำให้เป็นพิษต่อเซลล์ 50% มากกว่า 20 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม

ข้อห้ามใช้สมุนไพรเสนียด

  • สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราอาจทำให้แท้งบุตรได้

ประโยชน์ของเสนียด

  • เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำรั้วได้
  • ต้นใช้ปลูกไว้ตามริมตลิ่ง เพื่อช่วยป้องกันการกัดเซาะ

ที่มา : medthai.com

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่