หน้าแรก ข่าวสมุนไพร เปิดแผนใช้งบปี68 กรมแพทย์แผนไทยฯกว่า 376 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำลังยังน้อย

เปิดแผนใช้งบปี68 กรมแพทย์แผนไทยฯกว่า 376 ล้านบาท ขณะที่อัตรากำลังยังน้อย

3
0

อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ เผยแนวทางดำเนินงานตามนโยบาย สธ. สู่ Medical & Wellness Hub แจงการใช้งบปี 68 รวมทั้งหมดกว่า 376 ล้านบาท ขณะที่บุคลากรกรมฯ ทั้งส่วนกลาง-ภูมิภาค มีเพียง 658 คน กลุ่ม Gen X มากที่สุด กำลังคน “แพทย์แผนไทย” มีเพียง 4 พันคน เป็นข้าราชการแค่ 1 พันกว่าคน พร้อมยกระดับสมุนไพรเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ 120 รายการ

เมื่อเร็วๆนี้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายในการตรวจเยี่ยมกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยให้ดำเนินการ 3 เรื่อง ทั้ง1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพสู่ชุดของขวัญที่ระลึกจากประเทศไทย 2.ต่อยอดอุทยานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ3.เพิ่มพูนทักษะด้านการนวดไทยใน อสม.และคนตกงาน 1 หมื่นคน ตั้งเป้านวดไทยสร้างชื่อโด่งดังถึงระดับโลกภายใน 3 ปี

จากข้อสั่งการดังกล่าว ลองมาติดตามว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีนโยบายอะไรที่รองรับเรื่องนี้…

เปิดแผนใช้งบปี 68 ยกระดับ สมุนไพร นวดไทย
นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยว่า นโยบายของกรมการแพทย์แผนไทยฯ อยู่หนึ่งในนโยบายกระทรวงสาธารณสุข คือ “การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจสุขภาพสู่ Medical & Wellness Hub” ทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพความปลอดภัยทุกมิติ ยกระดับภูมิปัญญาไทย ส่งเสริมการใช้แพทย์แผนไทย และสมุนไพรเพื่อการแพทย์ในระบบบริการสุขภาพ เพิ่มโอกาสการเติบโตธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ ปรับปรุงกฎหมายระเบียบ ลดขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาต รวมถึงการส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรมสุขภาพและเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์

สำหรับแผนดำเนินงานใช้งบนั้น จำแนกตามประเภทงบรายจ่าย แบ่งสัดส่วน ดังนี้ 35% งบบุคลากร, 30% งบลงทุน ซึ่งมีการก่อสร้างรพ.ยศเส 250 ล้านบาท และศูนย์แพทย์แผนไทย ที่จ.ลำปางอีกราว 40 กว่าล้านบาท เป็นต้น , 29% งบดำเนินงาน, 4% งบอุดหนุน และ 2%งบรายจ่ายอื่นๆ
“ในเรื่องการยกระดับภูมิปัญญาไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพ จะใช้กลยุทธ์ 3 สร้าง คือ สร้างความร่วมมือ สร้างความเชื่อมมั่น และสร้างมาตรฐานและยกระดับ อย่างการบริการแพทย์แผนไทย การนวดไทย การใช้สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งงบประมาณในการขับเคลื่อนประจำปี 2568 มีแหล่งงบฯ 2 แหล่ง คือ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ของกรมฯได้ประมาณ 376 ล้านบาท และงบจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ได้ราว 80 ล้านบาท” นพ.สมฤกษ์ กล่าว

งบดำเนินการกว่า 73 ล้านบาท
ส่วนงบดำเนินงาน 73.72 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

1.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์และสมุนไพรสู่การใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพ กว่า 12 ล้านบาท เช่น ยกระดับภูมิปัญญาจากตำรับ ตำราการแพทย์แผนไทย ที่มีศักยภาพเพื่อนำไปใช้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์สมุนไพร

2.บูรณาการบริการการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในระบบบริการสุขภาพผ่านกลไกล Service Plan (แพทย์แผนไทยฯ 1 ใน 20 สาขาของเซอร์วิสแพลน) อีกกว่า 38 ล้านบาท นำมาใช้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกในหน่วยบริการปฐมภูมิ บูรณาการระหว่างแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบัน ส่งเสริมการวิจัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรในการดูแลสุขภาพประชาชน พัฒนามาตรฐานการผลิตยาสมุนไพรในรพ. WHO-GMP เพื่อสร้างความมั่งคงทางยา

3.ยกระดับการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกและสมุนไพร สู่การหนุนเสริมเศรษฐกิจสุขภาพ อีกกว่า 22 ล้านบาท เช่น สร้างมาตรฐานการนวดไทย สร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชน เป็นต้น

งบกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 80 ล้านบาท
นอกจากนี้ แผนการดำเนินงานของงบกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 80 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 ส่วนคือ

1.บริหารจัดการกองทุนฯ 8 ล้านบาท ทั้งจ้างพนักงานกองทุนตามสัญญา 14 อัตรา พัฒนาและขับเคลื่อนงานตามพ.ร.บ.ฯ จัดทำหรือทบทวนแพทย์ยุทธศาสตร์ฯ เป็นต้น

2.การคุ้มครองภูมิปัญญาฯ อีก 22 ล้านบาท ทั้งสนับสนุนการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยตามบทบาทนายทะเบียนกลาง และนายทะเบียนจังหวัด ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ ส่งเสริม สร้างเครือข่ายและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน สำรวจรวบรวมและคุ้มครองสมุนไพรถิ่นกำเนิด และสมุนไพรควบคุม พร้อมจัททำฐานข้อมูลสมุนไพร

3.ศึกษาองค์ความรู้และพํมนาต่อยอดฯ อีก 30 ล้านบาท เช่น ศึกษาแบบครบวงจรทั้งในด้านประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และการวิจัยในระดับคลินิก พรีคลินิก เป็นต้น

4.ส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ 20 ล้านบาท เช่น พัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรสู่การนำไปใช้ในระบบสุขภาพ เป็นต้น

    บุคลากร กรมฯ ส่วนกลาง-ภูมิภาค เพียง 658 คน
    ด้าน นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมมี 12 หน่วยงาน แบ่งเป็น 6 กอง 1 สถาบัน 2 สำนักข่าว 2 กลุ่ม และ 1 โรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกใน 12 เขตสุขภาพ ส่วนสถานการณ์อัตรากำลังมีทั้งหมด 658 คนทั่วประเทศ บุคลากรน้อยมาก แบ่งเป็นข้าราชการ 245 คน ลูกจ้างเหมา 227 คน พนักงานราชการ 131 คน พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 54 คน และลูกจ้างประจำ 1 คน โดยกลุ่มGen Y(เกิดปี 2525-2538) 62.30% กลุ่ม Gen X (เกิดปี 2508-2524) 29.80% กลุ่ม Gen Z (เกิดปี 2539 -2552) 6.70% และกลุ่ม Baby boomer(เกิดปี 2409-2507) 1.20%

    แพทย์แผนไทยน้อย 4 พันคน เป็นขรก.แค่ 1 พันกว่าคน
    อย่างไรก็ตาม การบริการแพทย์แผนไทยและนวดไทย มีการยกระดับและพัฒนาบริการด้านการแพทย์แผนไทย โดยบูรณาการร่วมกับ รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศ ให้บริการไปแล้วในปี 2566 จำนวน 20,200 ราย คิดเป็น 9.6% ซึ่งยังน้อย เพราะคนที่เข้าบริการมีหลักแสนคน แต่จะมีการยกระดับเพิ่ม และคาดว่าในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 15.8% หรือเพิ่มเป็น 34,700 ราย แต่ในเรื่องอัตรากำลังอย่างแพทย์แผนไทยที่อยู่ในระบบสาธารณสุขมีเกือบ 4 พันคน ซึ่งเป็นข้าราชการเพียง 1 พันกว่าคน แต่หากเปลี่ยนเป็นข้าราชการได้ทั้งหมด จะทำให้สาธารณสุขเข็มแข็งขึ้น และต้องผลิตอีกพอสมควร

    ยกระดับสมุนไพร เพิ่มรายการยาในบัตรทอง
    การยกระดับสมุนไพร กรมฯ สนับสนุนทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยกตัวอย่าง

    -ต้นน้ำ จากการสำรวจพื้นที่ปลูกสมุนไพรมีกว่า 1,059,818 ไร่ และข้อมูลของกรมฯ ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กำลังพัฒนามาตรฐานระดับโลกที่เรียกว่า GACP (Good Agricultural and Collection Practices) ขณะนี้ทำสำเร็จกรณีแปลงปลูกกัญชา ซึ่งหากใครจะปลูกและส่งออกต่างประเทศ ต้องมาส่งตรวจมาตรฐานนี้กับทางกรมฯ แต่ไม่ได้บังคับ เพียงแต่ส่งออกไม่ได้ ซึ่งจะมีแผนในการขยายไปยังสมุนไพรอื่นๆ เช่น พืชตระกูลหัว ขิง ขมิ้นชัน กระชายดำ ฯลฯ โดยดำเนินการปีนี้ และจะยกระดับสมุนไพรแชมเปี้ยน 15 รายการ เพื่อเอามาทำผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยน และเชื่อมโยงเมืองสมุนไพร 16 จังหวัด ตลาดกลางวัตถุดิบสมุนไพรแห่งแรกของไทย ซึ่งทำ MOU ที่ตลาดไท

    -กลางน้ำ ยกระดับคุณภาพของโรงงานผลิตภัณฑ์สมุนไพรร่วมกับอย. กรมส่งเสริมการอุตสาหกรรม 850 แห่งจาก 1,000 แห่ง เพิ่มโรงงานผลิตสารสกัดสมุนไพรจาก 11 แห่ง เป็น 24 แห่ง เนื่องจากปัจจุบันรง.เอกชนยังน้อย

    -ปลายน้ำ สิทธิสปสช.ด้านบริการการแพทย์แผนไทยฯ จาก 20.01 บาทต่อหัวประชากร จะเพิ่มเป็น 31.90 บาท และจะเพิ่มรายการยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ 120 รายการ และยกระดับ wellness และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพภูมิปัญญาไทยและสมุนไพร 330แห่ง

    ที่มา : hfocus.org

    ทิ้งคำตอบไว้

    กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
    กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่