หน้าแรก รอบรู้สมุนไพร 10 สมุนไพรไทย ประโยชน์และอันตรายที่ควรรู้ก่อนกิน

10 สมุนไพรไทย ประโยชน์และอันตรายที่ควรรู้ก่อนกิน

11
0

สมุนไพร คือ ยาที่ได้มาจากพืช แร่ธาตุ สัตว์ ที่สามารถนำไปใช้เพื่อบำรุงร่างกายและรักษาโรค โดยอาจอยู่ในรูปแบบของอาหารยาแผนโบราณ หรืออาหารเสริม ที่อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการอักเสบ ชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ เสริมสุขภาพหัวใจ อาจลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง สมุนไพรแต่ละชนิดมีคุณประโยชน์ วิธีการใช้ และปริมาณในการใช้ที่แตกต่างกัน หากใช้อย่างผิดวิธีหรือใช้ในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ประโยชน์ของสมุนไพร

สมุนไพรแต่ละชนิดมีสรรพคุณที่แตกต่างกัน ทั้งอาจช่วยรักษาโรค บรรเทาอาการ หรือใช้สำหรับบำรุงร่างกาย สมุนไพรที่นิยมใช้ในครัวเรือน ดังนี้

1.ขมิ้นชัน เป็นเครื่องเทศที่เป็นแหล่งของเคอร์คูมิน (Curcumin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบรรเทาอาการอักเสบ จากงานวิจัยในวารสาร Traditional and Complementary Medicine ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า สารเคอร์คูมินอาจช่วยบรรเทาอาการปวด ต้านการอักเสบ และการรับประทานขมิ้นอาจช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้

2.พริกแห้งพริกสด พริกป่น เป็นแหล่งแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งอาจช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น จากงานวิจัยในวารสาร Open Heart ประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า แคปไซซินอาจช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจ เร่งการเผาผลาญ และอาจช่วยลดไขมันหน้าท้อง ลดความอยากอาหารได้

3.อบเชย มีแคลอรี่ต่ำมาก อาจช่วยต้านการอักเสบจากสารอนุมูลอิสระและช่วยต่อสู้กับแบคทีเรีย และจากงานวิจัยในวารสาร Pharmacognosy Research ปี พ.ศ. 2558 ระบุว่า อบเชย อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานหรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้

4.กระวาน มีแร่ธาตุสูง เช่น แมกนีเซียม สังกะสี อาจช่วยบรรเทาอาการท้องไส้ปั่นป่วน และจากการวิจัยในวารสาร Lipids in Health and Disease ประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า กระวานมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น ฟีนอล (Phenol) เควอซิทิน (Quercetin) เรสเวอราทรอล (Resveratrol) ที่อาจช่วยต้านการอักเสบ ท้องผูก ท้องเสีย อาการจุกเสียด โรคลมบ้าหมู โรคหัวใจและหลอดเลือด

5.กระเทียม เป็นแหล่งของอัลลิซิน (Allicin) ที่อาจลดโอกาสเกิดโรคหัวใจ และจากงานวิจัยในวารสาร BMC Cardiovascular Disorders ปี พ.ศ.2551 พบว่า การรับประทานกระเทียมเป็นประจำอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและลดความดันโลหิต ซึ่งลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

6.ขิงอาจช่วยบรรเทาอาการท้องอืดและบรรเทาอาการคลื่นไส้ จากงานวิจัยในวารสาร Gastroenterology Research and Practice ปี พ.ศ. 2558 พบว่า ขิงอาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ และอาจลดความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้

7.สะระแหน่ มีฤทธิ์เย็น มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ดีต่อสุขภาพทางเดินอาหาร สุขภาพหัวใจ หลอดเลือด และปอด โดยอาจช่วยขยายหลอดลมทำให้หายใจสะดวกขึ้นเมื่อสูดดม นอกจากนี้ สะระแหน่ยังอาจมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อได้อีกด้วย

8.ผงยี่หร่า อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก อาจช่วยลดน้ำหนักได้ จากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2562 และในวารสาร BMC Complementary Medicine and Therapies ปี พ.ศ.2564 พบว่า ยี่หร่ามีฟีนอลิก (Phenolic) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดน้ำหนัก ควบคุมคอเลสเตอรอล และจัดการความเครียดได้

9.ว่านหางจระเข้ อาจมีฤทธิ์ช่วยเร่งสมานแผล โดยเฉพาะแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก จากงานวิจัยในวารสาร Iranian Journal of Medical Sciences ปี พ.ศ. 2562 พบว่า ว่านหางจระเข้สามารถเร่งสมานแผลไฟไหม้ได้ เมื่อเทียบกับยาทั่วไป นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันรอยแดง อาการคัน และการติดเชื้อ

10.ฟ้าทะลายโจร อาจมีคุณสมบัติช่วยรักษาโรคหลายชนิด จากงานวิจัยในวารสาร Asian Pacific Journal of Tropical Disease ปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า ฟ้าทะลายโจรมีสารไดเทอร์พีน (Diterpenes) สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แซนโทน (Xanthones) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจใช้รักษาโรคหลายชนิด เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะ โรคเรื้อน หลอดลมอักเสบ โรคผิวหนัง ท้องอืด จุกเสียด ไข้หวัดใหญ่

ความเสี่ยงของสมุนไพร

สมุนไพรหากใช้ในปริมาณที่มากเกินไปหรือใช้ผิดวิธี ก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ ดังนี้

สารพิษจากสมุนไพร

สมุนไพรหลายชนิดที่มีสารเคมีที่เป็นพิษร้ายแรงที่เป็นอันตราย หากใช้สมุนไพรอย่างผิดวิธี หรือได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือเกิดผลข้างเคียงตามมาได้ เช่น

  • ยี่โถ เคยมีคำแนะนำให้เอายี่โถไปต้มน้ำดื่มแก้โรคพิษสุราเรื้อรัง แต่เมื่อผู้ป่วยรับประทานไปแล้วทำให้มีอาการปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง และหากรับประทานมากเกินไปยี่โถอาจมีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลงหรืออาจจะหยุดเต้นได้
  • มะเกลือ มีสรรพคุณในการขับถ่ายพยาธิ แต่มะเกลือแก่สีดำอาจมีสารแนพทาลีน (Naphthalene) ที่ส่งผลเสียต่อระบบประสาทโดยตรง ทำให้มีอาการอาเจียน มีไข้ ท้องเสีย อาการตามัว ตามองไม่เห็นหรือตาบอดได้
  • ลำโพง ส่งผลเสียต่อระบบประสาทโดยตรง หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้มีอาการปากแห้ง กระหายน้ำ ผิวหนังร้อนแดง ตาพร่ามัว ตาไม่สู้แสง ประสาทหลอน และคลุ้มคลั่ง
  • ว่านหางจระเข้ มีผลข้างเคียงน้อยเมื่อใช้อย่างถูกต้อง แต่หากรับประทานว่านห่างจระเข้มากเกินไปอาจทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย เนื่องจากว่านหางจระเข้มีฤทธิ์เป็นยาระบาย
  • กระเทียม การรับประทานกระเทียบดิบในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้มีกลิ่นปาก เสียดท้อง มีแก๊สในกระเพาะ ท้องเสีย หรืออาจมีอาการแพ้ในบางคน
  • ฟ้าทะลายโจร หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชา อ่อนแรง ในบางคนอาจมีอาการเบื่ออาหารปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษ
  • ขิง การรับประทานขิงมากเกินไปอาจทำให้เกิดผื่นที่ผิวหนัง มีแก๊สในกระเพาะ เสียดท้อง ท้องเสีย คันปาก และอาจเพิ่มความเสี่ยงตกเลือดในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ

สารเจือปนในสมุนไพร

จากการตรวจสอบตัวอย่างสมุนไพรกว่า 100 ชนิด ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า มักมีการปนเปื้อนของสารอันตรายต่าง ๆ เช่น

  • สารหนู ประมาณ 60% ซึ่งเป็นสารที่อาจทำให้มีอาการเจ็บคอ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดแสบปวดร้อน เสียวซ่า มีผื่นสีดำตามตัวหนาขึ้น และอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งได้มากขึ้น
  • สเตียรอยด์ (Steroid) ประมาณ 30% เป็นสารที่อาจช่วยบรเทาอาการของโรคบางชนิด เช่น โรคไขข้ออักเสบ โรคหืด แต่หากใช้เป็นเวลานานอาจทำให้มีอาการหน้าบวม ตัวบวม เป็นสิว ผิวช้ำเลือดง่าย กระดูกผุ เป็นต้น
  • สารปรอท อาจทำให้มีอาการเหงือกอักเสบ ฟันหลุด ปากเปื่อย น้ำลายไหลมากผิดปกติ และไตวาย
  • ตะกั่วอาจทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากปลายประสาทผิดปกติ ปวดท้อง โลหิตจาง

ประสิทธิไม่เพียงพอต่อการรักษาโรค

บางครั้งผู้ป่วยอาจเลือกวิธีการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพร แทนการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน แต่สมุนไพรอาจไม่ประสิทธิภาพในการรักษาโรค หรือทำได้เพียงแค่ควบคุมอาการของโรคเท่านั้น การบริโภคสมุนไพรเพียงอย่างเดียวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดว่าหายจากโรคแล้ว จึงไม่ทำการรักษาต่อ และเสี่ยงต่อการเกิดอาการกำเริบหรือภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้

คำแนะนำในการใช้สมุนไพร

หากใช้สมุนไพรอย่างผิดวิธีและไม่ระมัดระวัง อาจส่งผลให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้สมุนไพร ดังนี้

1.การรักษาด้วยยาสมุนไพรควรทำการรักษาด้วยผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากยาสมุนไพรต้องใช้ในสัดส่วนที่ถูกต้อง ถูกวิธีและถูกโรค หากใช้สมุนไพรอย่างผิดวิธี นอกจากจะไม่ช่วยให้หายจากอาการป่วยแล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงได้
2.ไม่ควรรักษาด้วยสมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจมีสารตกค้างที่สะสมในร่างกายได้ และหากรักษาด้วยสมุนไพรแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการข้างเคียงจากการใช้สมุนไพร ควรเข้าพบคุณหมอแผนปัจจุบันทันทีเพื่อดูอาการและทำการรักษาเพิ่มเติม
3.ไม่ควรใช้สมุนไพรในการรักษาโรคที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้สมุนไพรรักษาได้ เช่น โรคบาดทะยัก โรคเบาหวาน วัณโรค สุนัขบ้ากัด ถูกงูพิษกัด กระดูกหัก
4.ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรง ไม่ควรรักษาด้วยสมุนไพรแต่ควรรีบเข้าพบคุณหมอทันที โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กและสตรีมีครรภ์ เช่น หมดสติ อาการปวดอย่างรุนแรง ตกเลือดจากช่องคลอด ท้องเดินอย่างรุนแรงไข้สูง อาเจียนเป็นเลือด

ที่มา : sanook