ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thumbergia laurifolia Lindl.
วงศ์ : Acanthaceae
ชื่ออื่น : กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง เครือเขาเขียว ยาเขียว (ภาคกลาง) คาย รางเย็น (ยะลา) จอลอดิเออ ซั้งกะ ปั้งกะล่ะ พอหน่อเตอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ดุเหว่า (ปัตตานี) ทิดพุด (นครศรีธรรมราช) น้ำนอง (สระบุรี) ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : ไม้เลื้อย/ไม้เถา เนื้อแข็ง ใบ ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปขอบขนานหรือรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเว้า มีเส้น 3 เส้นออกจากโคนใบ ดอก มีสีม่วงอมฟ้า ออกเป็นช่อห้อยลงตามซอกใบ ใบประดับสีเขียวประแดง กลีบเลี้ยงรูปจาน ดอกรูปแตรสั้น โคนกลีบดอกสีเหลืองอ่อน เชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 4 อันผล เป็นฝักกลม ปลายเป็นจะงอย เมื่อแก่แตกเป็น 2 ซีก
ส่วนที่ใช้ : ใบ ราก และเถาสด
สรรพคุณ:
รางจืดที่มีประสิทธิภาพ คือรางจืดชนิดเถาดอกม่วง
รากและเถา – รับประทานแก้ร้อนใน กระหายน้ำ
ใบและราก – ใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ เป็นยาพอกบาดแผล น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำลายพิษยาฆ่าแมลง พิษจากสตริกนินให้เป็นกลาง พิษจากดื่มเหล้ามากเกินไป หรือยาเบื่อชนิดต่างๆ เข้าสู่ร่างกายโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เช่น ติดอยู่ในฝักผลไม้ที่รับประทาน เมื่ออยู่ในสถานที่ห่างไกล การนำส่งแพทย์ต้องใช้เวลา อาจทำให้คนไข้ถึงแก่ชีวิตได้ ถ้ามีต้นรางจืดปลูกอยู่ในบ้าน ใช้ใบรางจืดไม่แก่ไม่อ่อนเกินไปนัก หรือรากที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป และมีขนาดเท่านิ้วชี้ มาใช้เป็นยาบรรเทาพิษเฉพาะหน้าก่อนนำส่งโรงพยาบาล (รากรางจืดจะมีตัวยามากกว่าใบ 4-7 เท่า) ดินที่ใช้ปลูก ถ้าผสมขี้เถ้าแกลบหรือผงถ่านป่น จะช่วยให้ต้นรางจืดมีตัวยามากขึ้น
วิธีใช้ :
ใบสด
สำหรับคน 10-12 ใบ
สำหรับวัวควาย 20-30 ใบ
นำใบสดมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำซาวข้าวครึ่งแก้ว คั้นเอาแต่น้ำดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจให้ดื่มซ้ำได้อีกใน 1/2 – 1 ชั่วโมงต่อมา
รากสด
สำหรับคน 1-2 องคุลี
สำหรับวัวควาย 2-4 องคุลี
นำรากมาฝนหรือตำกับน้ำซาวข้าว แล้วดื่มให้หมดทันทีที่มีอาการ อาจใช้ซ้ำได้อีกใน 1/2 – 1 ชั่วโมง ต่อมา
ที่มา : rspg