ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินว่า แกงเลียงเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับแม่ลูกอ่อน แต่ความจริงแล้วแกงเลียงมีประโยนชน์สำหรับคนทุกคน เพราะส่วนประกอบมีผักและสมุนไพรมากมาย ทั้งบวบเหลี่ยม, ตำลึง, ใบแมงลัก, ฟักทอง, เห็ดฟางที่เสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย มีวิตามินซีที่ช่วยป้องกันโรคหวัด แถมยังใส่พริกไทยที่ช่วยย่อยอาหาร และแน่นอนต้องมีสมุนไพรอย่าง หอมแดง ช่วยลดโอกาสการติดเชื้อและป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ร่างกายได้ ทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น ลองทำหรือหาซื้อแกงเลียงร้อนๆ มาสักชามก็ได้สารอาหารมากมาย แถมช่วยเสริมภูมิคุ้มกันอีกต่างหาก
ด้วยแกงเลียง มีลักษณะเป็นแกงผักรวม ซึ่งสามารถใส่ผักอะไรลงไปก็ได้ ทำให้ถือว่าเป็นทั้งอาหารและยาไปในตัว สามารถกินเพื่อปรับสมดุล ป้องกันหรือรักษาอาการเจ็บป่วยง่าย ๆ ได้ เราจึงจะมาแนะนำวิธีปรับสูตรแกงเลียง ให้เหมาะกับการทานในฤดูกาลต่าง ๆ เพื่อให้ทานแล้ว จะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงตลอดทั้งปี
- ฤดูร้อน : เพราะมีอากาศร้อนจัด ทำให้เกิดอาการร้อนในบ่อย ๆ ผักที่ใช้ ควรเป็นผักที่ทานแล้วทำให้รู้สึกเย็น เช่น ฟักเขียว น้ำเต้า แตงกวา ร่วมกับผักอื่น ๆ ตามที่ชอบ เช่น ข้าวโพดอ่อน ตำลึง บวบหอม บวบเหลี่ยม ผักปลัง แตงโมอ่อน มะระหวาน เป็นต้น และถ้าใส่พริกไทยและใบแมงลัก ก็ควรใส่พอสมควร เพื่อไม่ให้เกิดอาการร้อนใน
- ฤดูฝน : เป็นช่วงที่มีอาการท้องอืดได้ง่าย จึงควรใส่ผักที่มีรสเผ็ดร้อน ได้แก่ ต้นข่าอ่อน ต้นกระทืออ่อน และผักอื่น ๆ ตามชอบ เช่น ข้าวโพดอ่อน บวบหอม บวบเหลี่ยม ผักเหมียง ผักหวานป่า ฟักทอง เป็นต้น หลีกเลี่ยงผักที่ทำให้รู้สึกเย็น เช่น แตงกวา ฟักเขียว น้ำเต้า ที่สำคัญคือ ต้องเพิ่มปริมาณของพริกไทย ใบแมงลัก รวมถึงเพิ่มเครื่องปรุงอื่น ๆ เช่น หอมเล็ก ปรุงให้มีรสเผ็ดตามที่สามารถจะทานได้ เพื่อให้ท้องอุ่น ป้องกันอาการท้องอืด
- ฤดูหนาว : เป็นช่วงที่มีอากาศเย็น แห้ง มีอาการท้องผูกได้ง่าย ควรเลือกผักรสมัน เนื้อแข็งกรอบ เพื่อเพิ่มกาก และยังคงใส่เครื่องแกงเลียง มีปริมาณของพริกไทย และแมงลัก พอควร ให้มีรสเผ็ดนิดหน่อย แต่ไม่ต้องรสเผ็ดจัด เหมือนในช่วงฤดูฝน ผักที่ใช้ได้แก่ ผักเหมียง ผักหวานป่า ผักหวานบ้าน ผักกูด ฟักทอง เป็นต้น หลีกเลี่ยงผักรสเย็น เช่น แตงกวา ฟักเขียว น้ำเต้า