ในปัจจุบัน จะเห็นว่าคนไทยหันมาบริโภคสมุนไพรและวิตามินกันมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงระบาดเป็นวงกว้างและยังควบคุมไม่ได้แบบนี้ ส่งผลให้สมุนไพรไทยอย่างฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว ถึงกับขาดตลาดเลยทีเดียว นั่นก็เพราะมีคนจำนวนมากเชื่อว่า การบริโภคสมุนไพรและวิตามินต่างๆ จะช่วยบำรุงร่างกายให้แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดี แต่จริงๆ แล้วการรับประทานสมุนไพรและวิตามินในปริมาณที่มากเกินไปหรือต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน กลับไม่ได้ส่งผลดีอย่างที่เราหวัง หนำซ้ำยังเป็นการสร้างปัญหาให้กับตับอย่างคาดไม่ถึงอีกด้วย
สมุนไพรมีประโยชน์ แต่ก็อาจมีโทษ
สมุนไพรถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคและเป็นอาหารเสริมบำรุงร่างกายอย่างแพร่หลาย เพราะคนทั่วไปคิดว่าสมุนไพรเป็นพืช จึงไม่น่าจะมีพิษต่อร่างกาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว สมุนไพรอาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่
- สมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการแพ้ (Allergic reactions)
- สมุนไพรที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (Adverse effects)
- สมุนไพรที่ทำให้ยาที่ใช้เป็นประจำเพิ่มหรือลดระดับได้ (Herb and drug reactions)
- สมุนไพรที่อาจมีการปนเปื้อนสารเคมีหรือเชื้อโรคในขั้นตอนการผลิต (Contamination)
- สมุนไพรที่อาจมีการปลอมปนสารเคมีชนิดอื่นๆ (Adulterants) โดยส่วนใหญ่มักปลอมปนมากับสเตียรอยด์
- สมุนไพรที่ทำให้เกิดการเป็นพิษ (Toxic reactions) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) เคยมีมติให้ระงับการผลิตและเก็บยาสมุนไพรขี้เหล็กออกจากตลาด เนื่องจากในปี พ.ศ. 2542 มีรายงานว่า ใบขี้เหล็กในรูปแบบยาอัดเม็ดทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าคาวา (Kava) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ ก็ทำให้เกิดการเป็นพิษต่อตับเช่นกัน
กินวิตามินมากไป ทำลายสุขภาพไม่รู้ตัว
วิตามิน มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตและควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ให้เป็นไปตามปกติ ซึ่งแหล่งที่มาของวิตามินโดยทั่วไป คือ อาหาร และจากกระบวนการผลิตภายในร่างกาย ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายได้รับวิตามินบางชนิดไม่เพียงพอ ก็อาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยได้ ทำให้บางคนพยายามหลีกเลี่ยงอาการเจ็บป่วยนั้นด้วยการเพิ่มแหล่งวิตามินให้กับร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารเสริม รวมถึงวิตามินแบบอัดเม็ด อย่างไรก็ตาม หากร่างกายได้รับวิตามินมากเกินไปหรือใช้ผิดวิธี ก็อาจส่งผลเสียได้มากมายเช่น
- วิตามิน เอ เป็นวิตามินที่ละลายในไขมันและสามารถสะสมไว้ในร่างกายเพื่อเก็บไว้ใช้งาน แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น หรือรับเป็นระยะเวลานานเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผมร่วง ตับอักเสบ โดยเฉพาะในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
- วิตามิน ซี เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมได้ การรับประทานวิตามินซีมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะอึดอัดแน่นท้อง ท้องเสีย รวมถึงระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือถ้าหากกินวิตามินซีติดต่อกันนานเกินไป ก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นนิ่วในไตได้
- วิตามิน ดี เป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างได้เองจากผิวหนังเมื่อสัมผัสกับแสงแดด มีประโยชน์ในการยับยั้งการเกิดโรคกระดูกพรุนและลดการแตกหักของกระดูก รวมทั้งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่ถ้าได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นนิ่วในไตได้เช่นกัน
- วิตามิน อี เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน ใช้ในการรักษาภาวะไขมันพอกตับ แต่ถ้าได้รับมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้
สังกะสี ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและป้องกันเชื้อโรค และสามารถขับออกทางอุจจาระได้ ถ้าร่างกายดูดซึมได้ไม่หมด แต่ถ้าได้รับมากเกินไป อาจทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ เวียนศีรษะ และระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ - ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดง ช่วยลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ทั่วร่างกาย แต่ถ้าได้รับมากเกินไป อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และเกิดการเป็นพิษต่อเซลล์ ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น ตับ หัวใจ ไต ปอด ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
สมุนไพรและวิตามิน ทำให้ตับพังได้อย่างไร
ตับ จัดเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการสร้างกลูโคส กรดอะมิโน ไขมัน และโปรตีนที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว รวมถึงกำจัดสารพิษและของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย และถึงแม้ว่าตับจะสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่ถ้าหากทำงานหนักเกินไปหรือมีความผิดปกติเรื้อรังเกิดขึ้น ก็อาจส่งผลให้ตับถูกทำลาย และลุกลามเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ซึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพของตับส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การเผชิญกับสารเคมีหรือสารพิษเป็นประจำ ภาวะอ้วนลงพุง รวมถึงการกินยา วิตามิน หรือสมุนไพรที่มากเกินไปหรือติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ซึ่งมีผลทำให้ตับต้องทำงานหนักมากขึ้น และถ้าไม่สามารถขับของเสียออกมาได้ทัน ก็อาจก่อให้เกิดสารตกค้างในร่างกาย และทำลายเนื้อตับได้
ความสำคัญของสุขภาพตับ
โรคตับ เป็นโรคที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตติด 1 ใน 10 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย ดังนั้น การตรวจสุขภาพตับเป็นประจำ จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน เสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ
- ผู้ป่วยโรคตับ หรือสงสัยว่าเป็นโรคตับ เช่น ไวรัสตับอักเสบ โรคตับแข็ง
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไวรัสตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมะเร็งตับ
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ผู้ที่มีอาการตาเหลืองและตัวซีดเหลืองผิดปกติ
การตรวจสุขภาพตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (FibroScan)
การตรวจสุขภาพตับด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (FibroScan) เป็นเทคโนโลยีการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่ต้องเจ็บตัว ช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อน และสามารถตรวจซ้ำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ โดยใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น
ผลจากการตรวจไฟโบรสแกน สามารถช่วยประเมินระดับความรุนแรงของภาวะตับแข็ง รวมถึงติดตามผล และช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ได้จะเป็นค่าความแข็งของตับและค่าปริมาณไขมันสะสมในตับ โดยแพทย์จะแปลผลที่ได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรักษาต่อไป
การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพตับ ควรงดน้ำ อาหารและเครื่องดื่มให้พลังงานอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนตรวจเลือด และตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยที่ใส่เครื่องมือแพทย์ที่ฝังในร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือการฝังแร่กัมมันตรังสี รวมถึงผู้ป่วยที่มีน้ำในช่องท้อง ไม่แนะนำให้ตรวจด้วยวิธีนี้
แม้ผลกระทบจากการใช้สมุนไพรและวิตามินจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่การบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปและต่อเนื่องยาวนาน ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้ โดยเฉพาะสุขภาพตับ ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องใช้ ไม่ว่าจะเพื่อรักษาโรคหรือบำรุงร่างกาย แนะนำว่าให้ศึกษาหาความรู้ให้ดีก่อน หรือสามารถสอบถามรายละเอียดการใช้สมุนไพรและวิตามินเหล่านี้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน และที่สำคัญ ควรหยุดใช้ทันทีเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น
ที่มา : samitivejhospitals