Home สรรพคุณสมุนไพร สมุนไพรให้สี

สมุนไพรให้สี

0
2

ในอาหารหรือขนมที่เรารับประทานเข้าไปทุกๆ วันนี้ เคยสังเกตุกันไหมคะว่าสีสวยๆ เหล่านั้นมาจากสารปรุงแต่ง หรือเกิดจากธรรมชาติ?

หากสีสวยสดใสเหล่านั้นเกิดจากการใช้สารเคมีปรุงแต่ง ก็คงจะไม่ค่อยดีนัก เพราะถ้าเราบริโภคเข้าไปบ่อยๆ ขึ้นชื่อว่าสารเคมีมันก็ย่อมมีพิษต่อร่างกาย แต่ใช้ว่าอาหารสีสันสวยๆ จะต้องผสมด้วยสีสังเคราะห์จากสารเคมีเสมอไป เพราะในปัจจุบันแม่ค้า-พ่อค้า เริ่มตื่นตัวต่อโทษของสีสังเคราะห์ หันมาใช้สีจากธรรมชาติที่ทำจากสมุนไพรไทย สมุนไพรใกล้ๆ ตัว ที่เราหรือใครหลายๆ คน ต่างมองข้ามมันไป คราวนี้ผู้เขียนมีตัวอย่างสมุนไพรให้สี สำหรับใครที่ชอบทำอาหาร หรือทำขนม แล้วอยากเพิ่มความแปลกใหม่ เพิ่มสีสันให้จานเด็ดดูสวยงาม ดึงดูดแต่ไม่เป็นอันตราย ลองมีดูกันค่ะ ว่าสมุนไพรชนิดไหน ให้สีอะไร ทำให้เกิดสีได้อย่างไร และมีสรรพคุณอย่างไร

1.กระเจี๊ยบแดงสมุนไพรรสเปรี้ยว ชื่อของสมุนไพรชนิดนี้บอกชัดเจนว่าให้สีอะไร ส่วนการได้มาซึ่งสีแดงนั้นไม่ยากค่ะ เพียงแค่นำกระเจี๊ยบแดงที่เก็บมาจากต้น ล้างน้ำให้สะอาด เอาฝุ่นออก ตัดกลีบเลี้ยงทิ้ง พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ ต้มน้ำร้อนให้เดือดหลังจากนั้นนำกระเจี๊ยบที่ล้างเตรียมไว้ใส่ลงไป ทิ้งไว้สักครู่จนน้ำเดือด เราก็จะได้น้ำสีแดงสด นำมากรองเอาเศษฝุ่น หรือเศษจากกลีบกระเจี๊ยบออกไป น้ำที่ได้ เราสามารถนำไปผสมในอาหารได้เลย หรือจะนำมาต้มต่อใส่น้ำตาล ปรุงรสตามความชอบ เราก็จะได้น้ำกระเจี๊ยบรสชาดเปรี้ยวอมหวาน เอาไว้ทำเครื่องดื่มเย็นไว้ดื่มดับกระหาย คลายร้อนได้ค่ะ

สรรพคุณ: กระเจี๊ยบนั้น ช่วยขับปัสสาวะ, ลดความดัน, ช่วยในการระบาย ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน

2.คำแสดใครหลายๆ คนเมื่อได้ยินชื่อแล้วคงจะสงสัยว่าต้นไม้พุ่ม ดอกสวยต้นนี่ จัดเป็นสมุนไพรให้สีได้อย่างไร ไม่ต้องแปลกใจนะคะ คำแสดมีผล เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม มีขนสีแดงเข้มหนาทึบคล้ายผลเงาะ เมื่อผลแก่จัด จะแตกเป็น 2 ซีก เราจะพบว่าภายในผลที่แตกนั้นมีเมล็ดกลมๆ เล็กๆ สีน้ำตาล มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีแดงหรือสีแสด ส่วนนี้ล่ะค่ะที่จะให้สีกับเรา ซึ่งสีที่ได้นั้นก็คือ สีแดงค่อนไปทางส้ม หรือสีแสด วิธีการทำสีจากคำแสดนั้นคือ แกะเมล็ดออกจากผลที่แก่จัด นำมาแช่น้ำร้อนแล้วหมักทิ้งไว้ (ไม่กำหนดระยะเวลาแน่นอน) จนสีที่ออกมาตกตะกอน หลังจากนั้นแยกเมล็ดออก และนำน้ำสีที่ได้ไปตั้งไฟ เคี่ยวจนน้ำงวดจนเกือบแห้ง หลังจากนั้นนำน้ำไปตากแดดจนแห้งเป็นผง สามารถเก็บผงนั้นไว้สำหรับใช้ต่อไป

  • สรรพคุณ:
  • เมล็ดมีคุณสมบัติเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยลดไข้ฝาดสมาน
  • ดอก สามารถใช้เป็นยาบำรุงเลือด แก้โลหิตจาง แก้แสบร้อนคัน ตามผิวหนัง และยังช่วยรักษาโรคไตผิดปกติ แก้อาการบิด แก้พิษฝากสมาน
  • ใบใช้แก้โรคดีซ่าน แก้เจ็บคอ ช่วยลดไข้ แก้โรคบิดและช่วยขับปัสสาวะ
  • เนื้อหุ้มเมล็ด ใช้เป็นยาระบายและขับพยาธิ แก้โรคผิวหนัง ใช้แต่งสีอาหาร และเนย
  • เปลือกราก ใช้ป้องกันไข้มาเลเรีย ลดไข้ และโรคหนองใน

นอกจากเราจะนำสีที่ได้มาทำสีผสมอาหารแล้ว เรายังสามารถนำใช้สำหรับย้อมผ้าฝ้าย และผ้าไหมได้อีกด้วย

3.ฝาง สมุนไพรชนิดนี้ให้สีแดงเช่นเดียวกับกระเจี๊ยบ แต่เดิมนั้นคนโบราณใช้สีแดงจากฝางในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว เพราะสีที่ได้สามารถใช้บริโภคก็ได้ หรือจะนำมาทำสีสำหรับย้อมผ้าก็ได้เช่นกัน ส่วนที่ให้สีแดงก็คือ แก่นไม้ หรือ เนื้อไม้ ใช้วิธีนำมาต้มให้ออกสี และนำสีนั้นไปใช้งานต่อ สีแดงจากฝางนั้นแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของใครหลายคนมานานแล้ว นั่นก็คือสีแดงในน้ำยาอุทัย ที่เราใช้หยดใส่น้ำดื่ม เพื่อเพิ่มความสดชื่น อีกทั้งบริษัทที่ผลิตสิ่งนี้ได้เจาะตลาดเครื่องสำอาง โดยการผลิตเครื่องสำอางแต่งแต้มสีปาก สีแก้ม ให้สวยสดใส ไร้พิษภัย

สรรพคุณ:ช่วยบำรุงโลหิตสตรีช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ, แก้อาการปอดพิการ, แก้โรคคุดทะราด, ช่วยทำให้โลหิตเย็น, แก้โลหิตออกทางทวารหนักและทวารเบา, แก้อาการเลือดกำเดา, แก้อาการตกเลือด, บรรเทาอาการท้องร่วง, แก้ไอ, ช่วยรักษาโรคผิวหนังบางชนิด, ช่วยขับเสมหะ, แก้ไข, แก้อาการหอบ, พกช้ำ, ช่วยฟอกโลหิต

4.อัญชัน สมุนไพรข้างรั้ว ไม้เลื้อยให้ดอกสีสวย น่ารัก สมุนไพรพื้นบ้านที่ใครหลายๆ คนรู้วิธีสะกัดเอาสีออกมาใช้กันอยู่แล้ว ซึ่งสีที่ได้ก็คือ สีน้ำเงิน ตั้งแต่โบราณมา เราจะนำดอกอัญชัญมาต้มในน้ำเดือด แล้วกรอกเอาดอกที่หมดสีแล้วออก หลังจากนั้นเราจะนำสีที่ได้จากดอกอัญชันมาผสมในอาหารคาว และอาหารหวาน หรือไม่ก็นำมาใช้ดื่มได้ทันที โดยการเติมน้ำเชื่อมเพื่อเพิ่มความหวาน และหากเราบีบมะนาวลงไปเพียงเล็กน้อย เราจะได้เครื่องดื่มสีม่วงสวยแก้วพิเศษอีกด้วย หรือจะนำน้ำสีม่วงที่ได้มาผสมในขนมก็ยังได้ นอกจากนั้นยังใช้เป็นยาสระผม เพราะอัญชันช่วยให้สีผมดกดำ ภูมิปัญญานี้ได้ถูกนำไปปรับใช้กับเด็กทารก พ่อแม่นิยมนำดอกอัญชันมาขยี้ให้เกิดสี แล้วนำมาทาคิ้วของเด็ก เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กมีขนคิ้วดกดำ

สรรพคุณ:ช่วยดับกระหาย, บำรุงสายตา, แก้อาการตาฟาง, ตามัว เป็นยาระบายอ่อนๆ, ช่วยขับปัสสาวะ

5.กรรณิการ์สมุนไพรดอกจิ๋ว น่ารัก กลิ่นหอมแรงขัดแย้งกับขนาดดอก เห็นเป็นดอกไม้สีขาวเล็กๆ น่าทะนุถนอมแบบนี้ กลับให้สีแสดสดใสได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะส่วนที่ให้สีนั้นอยู่บริเวณก้านดอก ตั้งแต่โบราณมานั้น เรานิยมนำสีที่ได้จากดอกกรรณิการ์มาทำผสมในอาหารหรือขนม อีกทั้งยังนำไปเป็นสีสำหรับย้อมผ้า ทำให้ได้ผ้าสีสดสวย แปลกตา อีกด้วย

สรรพคุณ: กรรณิการ์มีสรรพคุณรอบต้นตั้งแต่ใบยันราก ใบช่วยบำรุงน้ำดี ดอกช่วยแก้ไข้ แก้อาการวิงเวียน รากช่วยบำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ผมหงอก ช่วยบำรุงผิวหนังให้สดใส

6.ขมิ้นสมุนไพรหลังบ้าน ปลูกง่าย ใช้ง่าย พูดถึงขมิ้นแล้วบางคนคงร้อง “อ๋อ” เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าขมิ้นนั้นให้สีเหลืองโดยที่ได้นั้นมาจากแก่น เหง้า หรือหัวขมิ้นนั่นเอง โดยคนโบราณจะนำขมิ้นมาตำให้แหลก แล้วคั้นเอาแต่น้ำ นำมาย้อมผ้า จะได้ผ้าสีเหลืองสด นอกจากนี้ยังมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงสำหรับทำแกงเหลือง หรือนำไปทำอาหารชนิดอื่นๆ และเพื่อความงาม เรายังสามารถนำขมิ้นมาผสมในเครื่องประทินผิว เช่น ดินสอพอง หรือมะขามเปียก ใช้สำหรับขัดและพอกผิว เพราะขมิ้นจะช่วยขับให้ผิวนวล ใส

สรรพคุณ:ขมิ้นสามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ลดการอักเสบของแผล นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยขับลม ลดอาการปวดท้อง จุกเสียด ช่วยแก้โรคผิวหนัง แก้ผื่นคันได้

7.เตย สมุนไพรกลิ่นหอม เลี้ยงง่าย ปลูกง่าย ใบเตย สมุนไพรที่ขึ้นง่าย อยู่ง่าย ไม่ต้องดูแลมาก แต่มีใบให้กลิ่นหอม ให้สีเขียวสวย สรรพคุณมากเหลือเกิน ในที่นี้คงไม่มีใครที่ไม่เคยทานอาหารที่มีส่วนผสมจากใบเตย อาทิเช่น วุ้นใบเตย, น้ำหวานใบเตย หรือขนมต่างๆ ที่ตกแต่งสีจากน้ำใบเตย นอกจากจะให้สีสวยแล้วยังให้กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เพียงแค่เรานำใบเตยสดมาตำให้ละเอียด ใส่น้ำผสมลงไปแล้วกรอกด้วยผ้าขาวบาง หลักจากนั้นจึงค่อยนำไปผสมอาหาร หรือจะนำน้ำที่ได้มาต้มแล้วใส่เติมน้ำตาลเพิ่มความหวาน เอาไว้ดื่มแก้กระหายก็ได้ หากเราจะไม่ใช้รับประทาน เราก็สามารถนำใบเตยมามัดเป็นช่อ วางไว้ตามมุมอับของห้อง ในตู้เย็น หรือไว้ในรถยนต์ เพื่อช่วยลดกลิ่นอับก็ยังได้

สรรพคุณ: ใบเตยมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยดับกระหาย และยังใช้เป็นยาขับปัสสาวะได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของสมุนไพรไทย ที่ให้สีต่างๆ เอาไว้ใช้ผสมในอาหารที่เรารับประทาน ผู้เขียนหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ให้ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ ใครที่กำลังจะหลีกเลี่ยงการใช้สีสังเคราะห์ผสมในอาหาร ลองหันมาดูรอบๆ ตัวเราก่อนนะคะ เพราะบางทีสมุนไพรให้สีอาจจะอยู่แค่ปลายนิ้วคุณก็ได้ค่ะ

ที่มา : blogspot.com

NO COMMENTS

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here